ปลายปี 2549 ที่ผ่านมา ปัญหาด้านความปลอดภัยที่ชวนปวดหัวในต่างประเทศได้ลุกลามมาถึงเมืองไทยอย่างจริงจัง เมื่อมีธนาคารแห่งหนึ่งได้ออกประกาศแจ้งเตือนลูกค้าของธนาคารว่า กำลังมีเว็บไซต์ปลอมแปลงโดยใช้ชื่อเว็บไซต์ที่คล้ายกับชื่อของธนาคารแห่งนั้นแต่แตกต่างกันที่ตัวสะกดเพียงนิดเดียวทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่ทันได้สังเกตุ โดยพวกมิจฉาชีพเหล่านี้จะส่งอีเมล์ไปหาลูกค้าของธนาคารเพื่อหลอกถามชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน วิธีการหลอกลวงลักษณะนี้ เรียกกันว่า ฟิชชิ่ง (Phishing) ออกเสียงเดียวกับคำว่า ตกปลา โดยมีผู้ใช้ออนไลน์เป็นเป้าหมาย และมักอาศัยอีเมล์เป็นเหยื่อล่อให้ติดเบ็ด ระวังไว้ซักนิดหากคุณได้รับอีเมล์ที่อ้างว่ามาจากสถาบันการเงินหรือเว็บไซต์ใดก็ตาม โดยมีข้อความประมาณว่า "ตอนนี้ข้อมูลส่วนตัวของคุณไม่ปลอดภัย", "บัญชีของท่านกำลังโดนถอนเงินอย่างผิดปกติ" หรือ "ธนาคารกำลังปรับปรุงระบบ ให้คุณช่วยเข้ามาอัพเดตข้อมูลให้หน่อย" .. เจออย่างนี้ ฟันธง!! โดนเหยื่อล่อเข้าแล้ว ถ้าเผลอไปคลิ้กลิงก์ที่แนบมาในอีเมล์ สิ่งที่คุณจะได้เห็นต่อไปก็คือ หน้าเว็บที่ดูคล้ายซะเหลือเกินกับที่ได้แอบอ้างมา สร้างหน้าเว็บพวกนี้ไม่ยาก บอกเลยว่าเด็กมัธยมก็ทำเองได้ ฉะนั้นอย่าให้สายตาของคุณถูกหลอกลวงด้วยภาพกราฟิกสวยๆ บนเว็บ แค่สังเกตซักนิดว่า บนแอดเดรสบาร์ (address bar) ของบราวเซอร์ เป็นชื่อเว็บที่ถูกต้อง เพราะพวกนี้มักอาศัยตัวสะกดที่ผิดเพี้ยนหรือไม่ก็เติมคำอะไรพิเศษต่อท้ายชื่อเว็บลงไป ทำให้คุณเข้าใจผิดได้ ถ้าหลงพลาดไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? .. ก็เป็นไปได้ตั้งแต่เงินหายจากบัญชี ไปจนถึงการถูกแอบอ้างเอาข้อมูลส่วนตัวไปเปิดบัตรเครดิต บอกกันไว้นิดนึงว่า ในสหรัฐฯ นั้นมูลค่าความเสียหายต่อเหยื่อแต่ละรายสูงถึงสามหมื่นกว่าบาท ส่วนตัวเลขความเสียหายทั่วโลกในปี 2549 ที่ผ่านมา ก็ไม่มาก..แค่ 76,000 ล้านบาทเท่านั้น ที่สำคัญอัตราการเติบโตของปัญหา phishing นั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง
ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ..เราขอฝากเคล็ดลับไว้สองข้อ ข้อแรกคือ จำไว้ว่าไม่มีสถาบันการเงินไหนที่จะส่งอีเมล์มาขอให้คุณเข้าไปอัพเดตรหัสผ่านหรือข้อมูลส่วนตัวโดยเด็ดขาด ข้อสองคือ ถ้าจำเป็นจริงๆ อย่าคลิ้กลิงก์ .. ให้เปิดบราวเซอร์แล้วพิมพ์ที่อยู่ของเว็บด้วยมือตัวเอง รับรองว่าปลอดภัยแน่นอน
ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ..เราขอฝากเคล็ดลับไว้สองข้อ ข้อแรกคือ จำไว้ว่าไม่มีสถาบันการเงินไหนที่จะส่งอีเมล์มาขอให้คุณเข้าไปอัพเดตรหัสผ่านหรือข้อมูลส่วนตัวโดยเด็ดขาด ข้อสองคือ ถ้าจำเป็นจริงๆ อย่าคลิ้กลิงก์ .. ให้เปิดบราวเซอร์แล้วพิมพ์ที่อยู่ของเว็บด้วยมือตัวเอง รับรองว่าปลอดภัยแน่นอน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น